วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ก้าวทันโลกศึกษา 2 หน่วยที่4

กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ

ประเทศไทยเป็นชุมชนทางการเมืองที่ร่วมกันสร้างโดยประชาชนมีดินแดนชัดเจนแน่นอน ประชาชนเหล่านี้ได้สร้างรัฐบาลเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากควบคุมของรัฐบาลภายนอก ในชุมชนดังกล่าวนี้รัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึงกัน ซึ่งประกอบด้วย
๑. ประชากร มีที่อยู่อาศัย มีแหล่งทำมาหากิน
๒. ดินแดน มีอาณาเขตที่ชัดเจนแน่นอน
๓. รัฐบาล ทำหน้าที่ดำเนินงาน ตามหลักนโยบายสาธารณะ เพื่อสนองเจตนารมณ์ของสาธารณชน
๔. อำนาจอธิปไตย เป็นที่รวมอำนาจของรัฐบาลเพื่อการบริหารและปกครองประเทศ
ความหมายและที่มาของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุด ที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของรัฐบาล และกำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐบาลที่กระทำต่อบุคคลในรัฐ สิทธิหน้าที่ของประชาชนที่มีต่อรัฐ
ลักษณะของรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ๓ ประการ คือ
๑. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีการเป็นพื้นฐาน (fundamental ) มากกว่ากฎหมายอื่นเป็นเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่จัดตั้งและวางกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกลไกของรัฐบาลโดยทั่วไปและกำหนดขอบเขตของกฎหมายอื่นด้วย
๒. กฎหมายรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป สำหรับกระบวนการเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความยุ่งยาก ต้องกระทำกันด้วยความรอบคอบ
๓. กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเหนือกว่ากฎหมายธรรมดา หากกฎหมายอื่นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นแบบฉบับที่ต้องยึดถือและกฎหมายนั้นย่อมตกไป
ประเภทของรัฐธรรมนูญ
ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการต้องมีกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เช่น ประเทศไทยมีชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการร่างหรือเขียนขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้เป็นรัฐธรรมนูญ การยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญจะกระทำโดยคณะบุคคล คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือภายใต้ชื่อคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน
รัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. ไม่มีการร่างขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีสถานภาพเป็นรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
๒. สาระของกฎหมายกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ สำหรับรัฐธรรมนูญ แบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏในบางประเทศ
๓. ประเภทรัฐธรรมนูญที่ใช้ชื่ออย่างอื่น เช่น
รัฐธรรมนูญแบบจัดเป็นหมวดหมู่ (C0dified) หมายถึง รัฐธรรมนูญแบบสหรัฐอเมริกา
รัฐธรรมนูญแบบกระจัดกระจาย (dispersed ) หมายถึง รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ
อาจมีการแบ่งรัฐธรรมนูญอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นแบบยืดหยุ่น (flexible) และรัฐธรรมนูญแบบ เข้มงวด หรือ รัฐธรรมนูญในกรอบ (rigid,inflexible) คือ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงแก้ไข กระทำได้ง่ายหรือยากเป็นเกณฑ์ ปัจจุบันไม่นิยม
ที่มาของรัฐธรรมนูญ
การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศมีที่มาแตกต่างกันไป หากจำแนกประเภทของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ แบ่งได้ ๕ ประเภท คือ
๑. รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการ ประกอบด้วยหลักการซึ่งแฝงด้วยปรัชญาและทฤษฏีทางการเมือง ดังนั้นย่อมผ่านการวิวัฒนาการเป็นเวลาช้านาน เช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษมีลักษณะที่มีการสั่งสมมาจากอดีต
๒.รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการปฏิวัติรัฐประหาร ในบางประเทศประชาชนไม่อาจรวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากพระมหากษัตริย์ได้ จึงรวมตัวกันใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรง ล้มล้างอำนาจ ของกษัตริย์สถาปนาความเป็นรัฐขึ้นมาภายใต้ระบอบการปกครองแบบใหม่ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญตัวอย่าง เช่น กรณีการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๗๘๙
๓.รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ รัฐธรรมนูญของบางประเทศประมุขของรัฐเป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้ กรณีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ มอบรัฐธรรมนูญให้ชาวฝรั่งเศสหรือกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย
๔. รัฐธรรมนูญเกิดจากการสร้างหรือสถาปนารัฐใหม่ รัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้เกิดขึ้นกรณีประเทศได้สถาปนาความเป็นรัฐใหม่ (ประกาศเอกราช) กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
๕. รัฐธรรมนูญเกิดจากประเทศผู้ยึดครองเป็นผู้มอบให้ เกิดจากการที่ประเทศผู้เข้ายึดครองประเทศเห็นสมควรมอบอำนาจให้ที่ถูกยึดครองเป็น ผู้ปกครองตนเอง เช่น กรณีญี่ปุ่น ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังกลุ่มสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่น (แต่จำกัดการก่อตั้งกองทัพญี่ปุ่น)
ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดี
รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของรัฐ โดยสาระของรัฐธรรมนูญมุ่งสร้างประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายในชาติ ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ มี ๕ ประการ คือ
๑. มีข้อความชัดเจนแน่นอน
๒. มีบทบัญญัติถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน
๓. เนื้อหาต้องครอบคลุมบทบัญญัติในการปกครอง ของรัฐไว้ครบ
๔. ไม่ควรยาวเกินไป รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีบทบัญญัติหลักการจัดรูปการปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็น
๕. ต้องกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย
เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ
๑. อารัมภบท “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา”
๒. รูปแบบการปกครอง รัฐธรรมนูญมักระบุรูปแบบการปกครองไว้ด้วย เช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมีระบุไว้ในมาตรา ๒ ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๓. โครงสร้างของรัฐบาล รัฐธรรมนูญส่วนมากจะกำหนดโครงสร้างของการบริหารประเทศ จะเป็นไปในรูปแบบใด
๔. สิทธิของราษฎรและพันธะกรณีของรัฐบาล
๕. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขไว้ โดยวิธีการต่างๆ กัน เช่น อาจจะแก้ไขโดยผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ
๖. บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญอาจกำหนดว่าในบางเรื่องหรือบางมาตราจะมีการบังคับใช้ในเวลาอันสมควร ซึ่งอาจระบุว่าเป็น ๒ ปี หรือ ๓ ปี เป็นต้น

ก้าวทันโลกศึกษา 2 หน่วยที่3

กฎหมายในชีวิตประจำวัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในระดับบุคคล
บุคคลแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
1. บุคคลธรรมดา หมายถึงบุคคลที่มีความสามารถ มีสิทธิประกอบนิติกรรมได้ตามกฎหมาย
2. นิติบุคคล หมายถึงบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้น มีสิทธิ
ประกอบนิติกรรมได้ตามกฎหมาย ได้แก่ วัด มูลนิธิ สมาคม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทบวงการเมือง (กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล จังหวัด)
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในระดับบุคคลสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท คือ
1. กฎหมายที่เกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร์ ได้แก่
1.1 การแจ้งคนเกิด ให้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
ในท้องที่ที่เกิดภายใน 15 วันตั้งแต่เกิด
1.2 การแจ้งคนตาย ให้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ภายใน 24 ชั่วโมง
1.3 การแจ้งย้ายที่อยู่ ให้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง
ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ย้ายออก
2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัตรประชาชน ได้แก่
2.1 บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์
ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
2.2 บัตรประจำตัวประชาชนให้ใช้ได้ 6 ปี นับแต่
วันออกบัตร และเมื่อบัตรหมดอายุผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ หรือก่อนวันหมดอายุบัตร 60 วัน
3. กฎหมายที่เกี่ยวกับการับราชการทหาร ได้แก่
3.1 ชายที่มีสัญชาติไทยมีหน้าที่รับราชการทหาร
ด้วยตนเองทุกคน
3.2 ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี
ใน พ.ศ. ใดให้ไปแสดงตัวเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในปี พ.ศ. นั้น ณ ภูมิลำเนาของตน
3.3 ทหารกองเกินเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปีในปี พ.ศ.
ใดต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนภายในปี พ.ศ. นั้น เมื่อรับหมายเรียกแล้วทหารกองเกินต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดนัด โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประจำตัวประชาชน และประกาศนียบัตรหรือหลักฐานการศึกษา มาแสดงด้วย
4. กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมสัญญา
4.1 นิติกรรม หมายถึง การแสดงเจตนาของบุคคล
ที่จะกระทำชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับใช้ซึ่งสิทธิ นิติกรรมที่สมบูรณ์นั้นผู้ทำนิติกรรมจะต้องมีความสามารถใช้สิทธิทำนิติกรรมโดยชอบธรรมของบุคคลคนเดียว
4.2 สัญญา หมายถึงการแสดงเจตนาของบุคคล 2 คน
ที่ต้องตรงกัน เช่น สัญญาจ่งแรงงงาน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ เป็นต้น สัญญาจะเป็นนิติกรรมเสมอ แต่นิติกรรมอาจไม่ใช่สัญญา เช่น การทำพินัยกรรม การโฆษณา การให้คำมั่นว่าจะทำให้ได้ ฯลฯ
กฎหมายประเภทนี้เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อควบคุมป้องกันมิให้ประชาชนทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบกัน หรือทำความตกลงกันในเรื่องที่เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ก้าวทันโลกศึกษา 2 หน่วยที่ 2


กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญาที่ควรรู้
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
1. ความสามารถของผู้เยาว์
1.1 ผู้เยาว์ หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ความเป็นผู้เยาว์จะเริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือ จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
1.2 การพ้นจากภาวะความเป็นผู้เยาว์ มี 2 กรณี คือ
( 1 ) เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
( 2 ) เมื่อจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยทั้งชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์และได้รับความยินยอมาจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองให้ทำการสมรสได้
1.3 ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บุคคลที่มีอำนาจทำนิติกรรมต่างๆ แทนผู้เยาว์ หรือมีอำนาจให้ความยินยอมให้การทำนิติกรรมของผู้เยาว์ โดยทั่วไปจะเป็นบิดามารดา
1.4 สิทธิของผู้เยาว์ในการทำนิติกรรม มี 2 ลักษณะ คือ
( 1 ) การทำนิติกรรมที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำได้ตามลำพัง เช่น ผู้เยาว์ที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ สามารถทำพินัยกรรมและจำนำสิ่งของในโรงรับจำนำได้
( 2 ) การทำนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น การทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ทำสัญญาซื้อรถยนต์ ทำสัญญากู้เงิน การโอนทรัพย์สิน ฯลฯ
2. การกู้ยืมเงิน
2.1 การกู้ยืมเงินเกิน 50 บาทขึ้นไป ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษร และลงลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเงินไว้จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ หรือทำสัญญากู้เงินตามแบบฟอร์มก็ได้
2.2 การชำระหนี้เงินกู้ ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานโดยมีข้อความว่าเจ้าหนี้ ( ผู้ให้กู้ ) ได้รับเงินชำระหนี้เงินกู้จากลูกหนี้ ( ผู้กู้ ) ตามจำนวนที่กู้ ( พร้อมทั้งดอกเบี้ย ) เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย หรืออาจใช้วิธีเวนคืนเอกสารสัญญากู้เงินหรือหลักฐานการกู้เงินให้แก่ผู้กู้ก็ได้
2.3 การคิดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน ตามกฎหมายให้คิดได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่านี้จะมีผลให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งหมด ผู้ให้กู้ไม่ได้รับดอกเบี้ยแต่จะได้คืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น
3. ซื้อขาย
3.1 ทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้ มี 2 ประเภท ดังนี้
( 1 ) อสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดินและทรัพย์ที่อยู่ติดกับที่ดินอย่างถาวร เช่น บ้านเรือน โรงงาน ต้นไม้ยืมต้น และสิทธิจำนอง เป็นต้น
( 2 ) สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้ เช่น เก้าอี้ แหวนและสร้อยคอทองคำ โทรทัศน์ รถยนต์ ช้าง ม้า และสิทธิในการจำนำ เป็นต้น
3.2 การทำสัญญาซื้อขาย การซื้อขายทรัพย์ต่อไปนี้ จะต้องทำเป็นหนังสือซื้อขายและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ หมายถึงเสียเปล่าไม่เกิดผลใดๆ ได้แก่
( 1 ) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ เช่น เรือกลไฟ เรือกำปั่น เรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพที่อยู่อาศัย และสัตว์พาหนะ ฯลฯ
4. เช่าทรัพย์
4.1 เช่าสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาการเช่า เช่น เช่าเรือกำปั่น เรือกลไฟ และเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป ฯลฯ
4.2 เช่าอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาการเช่า เช่น เช่าบ้าน ที่ดิน ฯลฯ แต่ถ้าเช่าเกินกว่า 3 ปีขึ้นไป จะต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานอีกด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
5. เช่าซื้อ
5.1 ลักษณะของการเช่าซื้อ เป็นสัญญาที่เจ้าของนำทรัพย์สินของตนออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เข้า หลังจากที่ผู้เช้าได้จ่ายเงินครบตามข้อตกลงแล้ว ( จะผ่อนชำระเป็นงวดๆ ภายในเวลาที่กำหนด )
5.2 ทรัพย์สินทุกประเภทเช่าซื้อได้ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ โทรทัศน์ ฯลฯ
5.3 การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำเป็นหนังสือสัญญา มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ และเมื่อผ่อนชำระจนครบแล้ว กรรมสิทธิ์จะโอนไปยังผู้เช่าซื้อได้ต้องไปจดทะเบียนการโอนต่อเจ้าพนักงาน
กฎหมายอาญา
6. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
การกระทำความผิดทางอาญาเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมหรือต่อประชาชนส่วนมาก เช่น ปล้นจี้ ข่มขืน ค้ายาเสพติด ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฯลฯ ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญามีดังนี้
6.1 เป็นกฎหมายมหาชน
6.2 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิด และกำหนดบทลงโทษไว้
6.3 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
6.4 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายในอาณาเขตของรัฐนั้น
7. ความรับผิดในทางอาญา
บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อกระทำความผิด 3 ลักษณะ ดังนี้
7.1 กระทำโดยเจตนา เช่น เด็กวัยรุ่นยกพวกตีกันและใช้มีดแทงคู่กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส
7.2 กระทำโดยไม่เจตนา เช่น นักเลงอันธพาลใช้ก้อนหินขว้างเข้าไปในบ้านผู้อื่นหวังจะข่มขู่แต่ไปถูกศีรษะคนในบ้านได้รับบาดเจ็บ
7.3 กระทำโดยประมาท เช่น ขับรถขนคนตาย พ่อค้าทำหม้อน้ำเดือดหกใส่ลูกค้าในร้านได้รับบาดเจ็บสาหัส ฯลฯ
8. โทษทางอาญา ความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามี 5 สถาน เรียงตามลำดับจากสูงไปต่ำได้ ดังนี้
8.1 ประหารชีวิต
8.2 จำคุก
8.3 กักขัง
8.4 ปรับ
8.5 ริบทรัพย์สิน
9. การกระทำความผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญามี ดังนี้
9.1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร เช่น ก่อกบฏแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทำลายธงชาติ ฯลฯ
9.2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง เช่น ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แจ้งความเท็จ ฯลฯ
9.3 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน เช่น รวมตัวเป็นอั้งยี่หรือช่องโจร ฯลฯ
9.4 ความผิดที่ก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อประชาชน เช่น ลอบวางเพลิง กีดขวางทางรถไฟให้เกิดอันตรายแก่การเดินรถ ปลอมปนอาหารจนเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ฯลฯ
9.5 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ รับของโจร ฯลฯ
9.6 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฆ่าผู้อื่นทอดทิ้งเด็กทารก ฯลฯ
9.7 ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น กระทำอนาจาร ข่มขืน ฯลฯ
9.8 ความผิดเกี่ยวกับการค้า เช่น ปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น หลอกลวงขายสินค้าเสื่อมสภาพ ทำสินค้าปลอมหรือเลียนแบบ โกงตราชั่ง ฯลฯ
9.9 ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลง เช่น ปลอมธนบัตร เหรียญกษาปณ์ แสตมป์ พินัยกรรมและเอกสารของทางราชการต่างๆ ฯลฯ
9.10 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา เช่น แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ หรือนักบวชในศาสนาอื่นๆ หรือการกระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุหรือศาสนาสถานอันเป็นที่เคารพของศาสนาต่างๆ
10. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้
10.1 ลักทรัพย์ คือ การนำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม และไม่รู้ตัว
10.2 วิ่งราวทรัพย์ คือ การฉกฉวยเอาทรัพย์สินของเจ้าของไปซึ่งหน้า หรือต่อหน้าเจ้าของ
10.3 ชิงทรัพย์ คือ บังคับเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยใช้กำลังหรืออาวุธทำร้ายเจ้าของทรัพย์
10.4 ปล้นทรัพย์ คือ คนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปร่วมมือกันชิงทรัพย์จากผู้อื่นไป โดยใช้กำลังหรืออาวุธทำร้ายเจ้าของทรัพย์
11. การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน 4 ระดับอายุ ดังนี้
11.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เมื่อกระทำความผิดไม่ต้องรับโทษใดๆ เช่น ลักขโมยทรัพย์หรือทำปืนลั่นถูกเพื่อนเสียชีวิต เป็นต้น
11.2 เด็กอายุเกิน 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปี เมื่อกระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลจะใช้วิธีการของศาล เช่น ว่ากล่าวตักเตือน หรือวางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองควบคุมเด็กมิให้ก่อเหตุขึ้นอีก
11.3 เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปี เมื่อกระทำความผิดตามกฎหมายให้ศาลวินิจฉัยว่าจะใช้วิธีเหมือนในข้อ 11.2 หรือส่งตัวไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก หรือพิพากษา ลงโทษตามกฎหมาย แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
11.4 เยาวชนอายุเกินกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี เมื่อกระทำความผิดตามกฎหมาย ให้ศาลพิพากษาโดยลดโทษลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งของโทษก็ได้

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)


รัฐบาลไทย ( คณะรัฐมนตรี )



คณะรัฐมนตรีเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีความสำคัญทั้งในด้านกฎหมาย ทางการเมือง และในทางอำนาจที่กำหนดไว้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 36 คน ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นไม่เกิน 35 คน

คณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี หรือที่นิยมเรียกกันว่ารัฐบาล เป็นคณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐสภาให้ใช้อำนาจบริหาร มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เพื่อความผาสุก ความปลอดภัย และความสงบของประชาชนทั้งประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสรุปความสำคัญของคณะรัฐมนตรีได้ดังนี้



1. คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมาย กล่าวคือเป็นคณะบุคคลที่ทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจากที่รัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาแล้ว เช่น รัฐสภาออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง คณะรัฐมนตรีก็จะต้องจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางขึ้นมา ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐสภาออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร คณะรัฐมนตรีก็มีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ เป็นต้น



2. คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากมาย สามารถกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินได้ตามแนวคิดของคณะรัฐมนตรีคณะนั้นๆ มีอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศ



3. คณะรัฐมนตรีมีอำนาจทางการเมืองทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองภายในประเทศด้วยในการบริหารราชการแผ่นดิน และใช้อำนาจทางการเมืองภายนอกประเทศในการติดต่อกับต่างประเทศแทนรัฐหรือชาติไทย

อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี



อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา และระเบียบต่างๆ ตลอดจนตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีอยู่มากมายด้วยกัน สรุปได้ดังนี้



1. กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่แถลงขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
2. ควบคุมข้าราชการประจำให้นำนโยบายไปปฏิบัติให้บังเกิดผล
3. ประสานงานกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันได้ร่วมมือกันปฏิบัติงาน
4. กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่จะกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องต่างๆ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ
5. พิจารณาและมีมติในเรื่องต่างๆ ที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เสนอมาให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้เนื่องจากในการดำเนินงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ย่อมจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย เรื่องใหม่ซึ่งควรจะให้คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายหรือเรื่องซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำ ที่กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับได้กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกัน จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้น ปัจจุบันนี้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง



แบ่งส่วนราชการออกเป็นกระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ดังนี้
1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบและบัญชาข้าราชการประจำรองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตีและคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมาย และพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มีได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ



1.2 กระทรวง แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เป็นผู้ช่วย มีปลัดกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบและบังคับบัญชาข้าราชการประจำในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี
ในแต่ละกระทรวงจะมีอำนาจหน้าที่ตางกันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยให้มีกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงทั้งสิ้น 20 กระทรวง ดังนี้
(1) สำนักนายกรัฐมนตรี
(2) กระทรวงกลาโหม
(3) กระทรวงการคลัง
(4) กระทรวงการต่างประเทศ
(5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(6) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(8) กระทรวงคมนาคม
(9) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(10) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(11) กระทรวงพลังงาน
(12) กระทรวงพาณิชย์
(13) กระทรวงมหาดไทย
(14) กระทรวงยุติธรรม
(15) กระทรวงแรงงาน
(16) กระทรวงวัฒนธรรม
(17) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(18) กระทรวงศึกษาธิการ
(19) กระทรวงสาธารณสุข
(20) กระทรวงอุตสาหกรรม

1.3 กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม เป็นส่วนราชการที่แบ่งรองลงมาจากกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวง มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทางและแผนการปฏิบัติข้าราชการของกระทรวง ในกรมหนึ่งอาจมีรองอธิบดีหรือผู้ช่วยอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชารองจากอธิบดี
1.4 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง เป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวง แต่ขึ้นตรงต่อนกยกรัฐมนตรี ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักอัยการสูงสุด อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในท้องที่ต่างๆ จากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวง และกรมต่างๆ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
2.1 จังหวัด จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นพระราชบัญญัติ มาฐานะเป็นนิติบุคคล โดยรวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด และมีส่วนราชการของกระทรวง หรือกรมต่างๆ ไปตั้งอยู่ ณ จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง กรม มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับท้องที่
2.2 อำเภอ เป็นส่วนราชการส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด อำเภอหนึ่งประกอบด้วยหลายตำบล มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการภายในอำเภอและรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ นอกจากนี้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ซึ่งกระทรวง กรมต่างๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ
หน่วยงานรองลงไปจากอำเภอ คือ ตำบล ในแต่ละตำบลมีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง หน่วยงานย่อยรองตำบลลงไป คือ หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง

3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจปกครองไปให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองท้องถิ่น โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
3.1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มีหน้าที่ดำเนินกิจการด้านการพัฒนา การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการแบ่งสรรเงินให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในจังหวัดนั้น มีจำนวนมากน้อยตามเกณฑ์ของราษฎรในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองนายก 2-4 คน ตามเกณฑ์ของสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
3.2 เทศบาล การจัดตั้งเทศบาลให้ดูสภาพท้องถิ่นอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาล โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งอาจตั้งเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาล และคณะเทศมนตรี
สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
คณะเทศมนตรี ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี และเทศมนตรีตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด คณะเทศมนตรีทำหน้าที่บริหารงานของเทศบาลภายใต้การควบคุมของสภาเทศบาล และมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาล และงานประจำของเทศบาล
3.3 สภาตำบล เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มีฐานะเป็นนิติบุคคล สมาชิกสภาตำบลประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบล หมู่บ้านละหนึ่งคน
3.4 องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหน่วยการปกครองที่พัฒนามาจากสภาตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งกำหนดให้ตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพ้นสภาพจากสภาตำบลนั้น และมีฐานะเป็นนิติบุคคล
องค์การบริการส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในตำบลหมู่บ้านละ 2 คน หากตำบลใดมี 1 หมู่บ้าน ให้เลือกสมาชิกได้ 6 คน ถ้าตำบลใดมี 2 หมู่บ้านให้เลือกสมาชิกได้หมู่บ้านละ 3 คน และให้สภาตำบลเลือกสมาชิกเป็นประธานสภา 1 คน เป็นรองประธานสภา 1 คน เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร 1 คน และกรรมการบริหาร 2 คน ซึ่งได้รับเลือกจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
3.5 กรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542) มีฐานะเป็นนิติบุคคล การบริหารกรุงเทพมหานครประกอบด้วย สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยการแบ่งเขตๆ ละ 1 คน ซึ่งใช้ราษฎรประมาณ 100,000 คน เป็นเกณฑ์ สภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 คน แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการประจำ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร
3.6 เมืองพัทยา เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย สภาเมืองพัทยา และนายกเมืองพัทยา
สภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยสมาชิกเลือกประธานสภาเมืองพัทยา แล้วเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีแต่งตั้ง
นายกเมืองพัทยา ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน มีอำนาจหน้าที่บริหารภายในองค์กรซึ่งประกอบด้วยสำนักปลัดเมืองพัทยา และส่วนราชการอื่น
การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องอยู่ใกล้ตัวนักเรียน จึงควรทำความเข้าใจ และต่อไปเมื่อนักเรียนพ้นเกณฑ์การศึกษาแล้ว อาจเข้าไปมีส่วนรวมหรือมีบทบาทในองค์การเหล่านี้

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน



การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ มีปรากฏให้เห็นทั้งที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ส่วนสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็นบริหารส่วนกลาง คือรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น หรือรัฐบาลมลรัฐ สำหรับประเทศที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่เด่นชัดมี 2 ประเทศ คือ ไทย และฝรั่งเศส

การจัดระเบียบบริหารราชการออกเป็น 2 หรือ 3 ส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล สภาพของประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศนั้น ๆ

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ ล้วนอยู่ในการควบคุมดูแลของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน อันครอบคลุมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติ การอำนวยความสะดวกและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตามกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา

การบริหารราชการส่วนกลาง : ใช้หลักการรวมอำนาจ โดยให้อำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการสูงสุดอยู่ในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ แบ่งส่วนราชการออกเป็น (1) สำนักนายกรัฐมนตรี (2) กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (3) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง (4) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนราชการดังกล่าวนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค : ใช้หลักการแบ่งอำนาจ โดยราชการส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วแบ่งอำนาจการบังคับบัญชาและการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ภูมิภาคนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการปฏิบัติของภูมิภาคนั้นจะต้องให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของส่วนกลางหรือของคณะรัฐมนตรี หรือตัวบทกฎหมายของประเทศ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี 2 ระดับ คือจังหวัด และอำเภอ

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น : ใช้หลักการกระจายอำนาจ ที่ส่วนกลางได้มอบอำนาจระดับหนึ่งให้ประชาชนในท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระ โดยที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน กิจกรรมที่ทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพัฒนา มีอิสระในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาหรือการสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น ออกข้อบังคับหรือระเบียบต่าง ๆ มาบังคับในเขตการปกครองของตนได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในปัจจุบันมีรูปแบบ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (2) เทศบาล (3) สุขาภิบาล และ (4) ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ศาลยุติธรรมไทย



ประวัติศาลยุติธรรมไทย
ปัจจุบันนี้ศาลและกระทรวงยุติธรรมได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ทางด้าน การพัฒนาบุคลากรและการขยายศาลยุติธรรมให้กว้างขวางครอบคลุมคดีความทุกด้านตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เพื่อประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยเสมอหน้าและเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะอาชีพ และทุกท้องที่แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม การที่ศาลและกระทรวงยุติธรรมพัฒนาก้าวหน้ามาเช่นนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสถาบันยุติธรรมอย่างแน่นแฟ้นตลอดมาโดยทรงเป็นองค์ตุลาการตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา แม้ปัจจุบันศาลก็ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์ ในโอกาสที่กระทรวงยุติธรรมได้สถาปนามาครบ 100 ปี (พ.ศ. 2535) ได้มีการจัดงานที่ระลึกขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะย้อนรอยไปสู่อดีต เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายได้ทราบถึงความเป็นมาของศาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตลอดจนความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับกระบวนการยุติธรรม ย้อนร้อยอดีตไป 700 ปี เริ่มที่


กรุงสุโขทัย
ในสมัยนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ดังคำพังเพยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประชาชนพลเมืองมีน้อย อยู่ในศีลในธรรมคดีความจึงมีไม่มาก พระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน พระมหากษัตริย์จึงทรงตัดสินคดีความด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มี หลักฐานจากศิลาจารึกว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงมอบให้ขุนนางตัดสินคดีแทนด้วย ในสมัยนี้พอมีหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจากหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง “ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจมันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม ไพร่ฟ้า ลูกเจ้า ลูกขุนผิแลผิแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้วจึงแล่งความแก่ข้าด้วยซื่อ บ่อเข้าผู้ลักมักผู้ซ่อนเห็นข้าวท่านบ่อใคร่พิน เห็นสินท่านบ่อใคร่เดือด” จากศิลาจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การร้องทุกข์ในสมัยนั้นร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไต่สวนพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง หรือให้ขุนนางเป็นผู้ไต่สวนให้ถ่องแท้และตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่ลำเอียงและไม่รับสินบน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญใน การพิจารณาคดีในสมัยนั้น สำหรับสถานที่พิจารณาคดีที่เรียกว่า ศาลยุติธรรมนั้นในสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏว่ามีศาล ตัดสินคดีเหมือนในสมัยนี้ แต่ก็มีหลักฐานจากหลักศิลาจารึกว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ ป่าตาลเป็นที่พิจารณาคดี ซึ่งพอเทียบเคียงได้ว่าเป็นศาลยุติธรรมในสมัยนั้น “1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ได้ 14 เท่า จึงให้ช่างฟันกระดาษเขียนตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนหก 8 วัน วันเดือนเต็มเดือนบั้ง ฝูงปู่ครูเถร มหาเถรขึ้นนั่งเหนือกระดานหินสวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงถ้วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือกระดาษหิน ให้ฝูงถ้วยลูกเจ้า ลูกขุน ฝูงถ้วยถือบ้านถือเมือง ในกลางป่าตาลมีศาลา 2 อัน อันหนึ่งชื่อศาลพระมาส อันหนึ่งชื่อพุทธศาลา กระดานหินนี้ชื่อมนังคศิลาบาท” จากศิลาจารึกนี้พอเทียงเคียงได้ว่า ป่าตาลเป็นศาลยุติธรรม สมัยสุโขทัย และพระแท่นมนังคศิลาบาทเป็นเสมือนบัลลังก์ศาลในสมัยนั้น สำหรับกฎหมายที่ใช้ในสมัยสุโขทัยซึ่งปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งนั้น มีลักษณะคล้ายกฎหมายในปัจจุบัน เช่น กฎหมายกรรมสิทธิ์ที่ดิน “หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน” กฎหมายพาณิชย์ “ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงินค้า ค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” นอกจากนั้นแล้วในหลักศิลาจารึกยังกล่าวถึงกฎหมายลักษณะโจรและการลงโทษ เช่น ขโมยข้าทาสของผู้อื่น “ผิผู้ใดหากละเมิน และไว้ข้าท่านพ้น 3 วัน คนผู้นั้นไซร้ท่านจะให้ไหมแลวันแลหมื่นพัน” นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียด้วย สำหรับการลงโทษในสมัยสุโขทัยตามหลักศิลาจารึก กฎหมายลักษณะโจรมีโทษเพียง ปรับเท่านั้น ไม่มีหลักฐานการลงโทษที่รุนแรงถึงตาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีไม่มากและเป็นผู้ที่เคร่งครัดอยู่ในศีลในธรรมตามหลักพุทธศาสนา ประชาชนจึงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี บ้านเมืองก็เจริญขึ้นตามลำดับ ราษฎรก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้พระราชภารกิจของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้น จึงมิอาจทรงพระวินิจฉัยคดีความด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึงเช่นกาลก่อน จึงทรงมอบอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยอรรถคดีของอาณาประชาราษฎร์ให้แก่ ราชครู ปุโรหิตา พฤฒาจารย์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์พราหมณ์ในราชสำนักและเสนาบดีต่าง ๆ เป็นผู้ว่าการยุติธรรมต่างพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อาจใกล้ชิดกับราษฎรเหมือนสมัยสุโขทัย แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะดูเหมือนห่างไกลจากราษฎร แต่ว่าบทบาททางด้านการยุติธรรมนั้นกลับดูใกล้ชิดกับราษฎรอย่างยิ่ง โดยทรงเป็นที่พึงสุดท้ายของราษฎร ถ้าราษฎรเห็นว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีก็มีสิทธิที่จะถวายฎีกา เพื่อขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานความเป็นธรรมแก่ตนได้ ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรง พระวิจารณญาณวินิจฉัยอรรถคดีใดด้วยพระองค์เอง พระบรมราชวินิจฉัยในคดีนั้นก็เป็นบรรทัดฐานที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมพึงถือปฏิบัติสืบต่อมา ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยุติธรรมแทนพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมี 3 กลุ่มได้แก่ ลูกขุน ณ ศาลหลวง ตระลาการ ผู้ปรับ การพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้กล่าวหาหรือผู้ที่จะร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อจ่าศาลว่าจะฟ้องความอย่างไรบ้าง จ่าศาลจะจดถ้อยคำลงในหนังสือแล้วส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงพิจารณาว่า เป็นการฟ้องร้องตามกฎหมายควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าเห็นควรรับไว้พิจารณาจะพิจารณาต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของศาลกรมไหนแล้วส่งคำฟ้องและตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น เช่น ถ้าเป็นหน้าที่กรมนา จะส่งคำฟ้องและโจทก์ไปที่ศาลกรมนา ตระลาการศาลกรมนาก็จะออกหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การไต่สวนเสร็จแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวงว่ามีข้อใดต้องสืบพยานบ้าง เมื่อลูกขุนส่งกลับมาแล้ว ตระลาการก็จะทำการสืบพยานเสร็จแล้วก็ทำสำนวนให้โจทก์และจำเลยหยิกเล็บมือที่ดินประจำผูกสำนวน เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นสำนวนของโจทก์ จำเลย แล้วส่งสำนวนคดีไปให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง ลูกขุน ณ ศาลหลวงจะพิจารณาคดีแล้วชี้ว่าฝ่ายใดแพ้คดี เพราะเหตุใดแล้วส่งคำพิพากษาไปให้ผู้ปรับ ผู้ปรับจะพลิกกฎหมายและกำหนดว่าจะลงโทษอย่างไรตามมาตราใด เสร็จแล้วส่งคืนให้กรมนา ตระลาการกรมนาจะทำการปรับไหมหรือลงโทษตามคำพิพากษา หากคู่ความไม่พอใจตามคำพิพากษา ก็สามารถอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ถ้ายังไม่พอใจก็สามารถถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้อีก ศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นมี 4 ศาลตามการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยเริ่มที่กรมวังก่อนแล้วจึงขยายไปยังที่กรมอื่น ๆ ในตองกลางกรุงศรีอยุธยามีการตั้งกรมต่าง ๆ ขึ้นจึงมีศาลมากมายกระจายอยู่ตามกรมต่าง ๆ ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกรมของตน ในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยามีการรวมรวบกรมต่าง ๆ ขึ้นเป็นกระทรวงจึงแบ่งศาลออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง สองศาลนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง ชำระความคดีอาญาและคดีความแพ่งทั้งปวง ศาลนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ชำระความคดีโจรผู้ร้าย เสี้ยนหนามแผ่นดิน ทั่วไป ศาลการกระทรวง ขึ้นอยู่กับกระทรวงอื่น ๆ ชำระคดีที่อยู่ในหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ส่วนสถานที่พิจารณาคดีหรือที่ทำการของศาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากศาลหลวงที่ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ศาลอื่น ๆ ไม่มีที่ทำการโดยเฉพาะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ที่ทำการของศาลหรือที่พิจารณาคดีคงใช้บ้านของตระลาการของศาลแต่ละคนเป็นที่ทำการ สำหรับที่ตั้งของศาลหลวงนั้นมีหลักฐานตามหนังสือประชุมพงศาวดารภาค 63ว่าด้วยตำนานกรุงเก่ากล่าวว่า ศาลาลูกขุนนอก คือศาลหลวงคงอยู่ภายในกำแพงชั้นนอกไม่สู้ห่างนัก คงจะอยู่มาทางใกล้กำแพงริมน้ำ เนื่องจากเมื่อขุดวังได้พบดินประจำผูกสำนวนมีตราเป็นรูปต่าง ๆ และบางก้อนก็มีรอยหยิกเล็บมือ ศาลหลวงคงถูกไฟไหม้เมือเสียกรุง ดินประจำผูกสำนวนจึงสุกเหมือนดินเผา มีสระน้ำอยู่ในศาลาลูกขุนใน สระน้ำนี้ในจดหมายเหตุซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การของขุนหลวงหาวัด ว่าเป็นที่สำหรับพิสูจน์คู่ความให้ดำน้ำในสระนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ากล่าวจริงหรือกล่าวเท็จ

กฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นหลักกฎหมายที่ลูกขุนฝ่ายในศาลหลวงจะต้องยึดถือปฏิบัติ และใช้ในการวินิจฉัยคดี มีบทกำหนดลักษณะของตุลาการ ข้อพึงปฏิบัติของตุลาการ คำสั่งสอนตุลาการ
พระราชศาสตร์ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีของพระมหากษัตริย์ เช่น การวินิจฉัยคดีที่ราษฎรฎีกา เป็นต้น ซึ่งต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อมาจนกลายเป็นกฎหมาย
พระราชกฎหมาย กำหนดกฎหมายอื่น ๆ เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ทรงตราขึ้นตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละสมัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
การลงโทษผู้กระทำผิดในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรุนแรงมากถึงขั้นประหารชีวิต การประหารชีวิตโดยทั่วไป ใช้วิธีตัดศีรษะด้วยดาบ แต่ถ้าเป็นคดีกบฎประหารชีวิตด้วยวิธีที่ทารุณมาก การลงโทษหนักที่ไม่ถึงขั้นประหารชีวิตจะเป็นการลงโทษทางร่างกายให้เจ็บปวดทรมานโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบ


สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชภารกิจในการสงคราม เพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่าและการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นบึกแผ่น ประกอบกับพระองค์ทรงครองราชย์เพียง 15 ปี จึงมิได้เปลี่ยนแปลงระบบการยุติธรรมคงใช้กฎหมายและระบบศาลของกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมา


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระมหากษัตริย์ไทยทรงแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งอีกครั้งว่าพระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยที่จะประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม ให้แก่อาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง เมื่อนายบุญศรีช่างเหล็กหลวงได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีโดยอำแดงป้อมผู้เป็นภรรยาได้นอกใจทำชู้กับนายราชาอรรถและมาฟ้องหย่านายบุญศรีไม่ยอมหย่าให้ แต่ลูกขุนตัดสินให้หย่าได้ นายบุญศรีเห็นว่าตัดสินไม่เป็นธรรมจึงร้องทุกข์ถวายฎีกา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสอบสวน พบว่าลูกขุนตัดสินต้องตรงความกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า “ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าให้หญิงหย่าชายได้” พระองค์ทรงพระราชดำริว่า หลังจากเสียกรุงแก่พม่าแล้ว มีการดัดแปลงแต่งเติมกฎหมายให้ฟั่นเฟือนวิปริต ขาดความยุติธรรม สมควรที่จะชำระสะสางใหม่เพื่อให้ทรงไว้ ซึ่งความยุติธรรม จึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรวจสอบกฎหมายต่าง ๆ ให้ตรงตามพระธรรมศาสตร์ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ และเพื่อป้องกันการดัดแปลงแก้ไขจึงทรงโปรดให้จัดทำเป็น 3 ฉบับมีข้อความตรงกันแยกเก็บไว้ที่ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง แห่งละ 1 ฉบับแต่ละฉบับประทับตราเป็นสัญลักษณ์ 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว เรียกว่า กฎหมายตราสามดวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระทัยใส่ในการพิจารณาคดีกับทรงห่วงใยในการดำเนินคดีต่ออาณาประชาราษฎร์ จึงทรงให้ขุนศาลตุลาการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว โดยการกำหนดขั้นตอนให้ปฏิบัติหากมีปัญหาให้นำความกราบบังคมทูล พระมหากรุณาห้ามกดความของราษฎรให้เนิ่นช้าเป็นอันขาดพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ทรงมีพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งต่องานศาล และกระทรวงยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไป ในด้านการพิจารณาคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนตั้งกระทรวงยุติธรรมนั้น หลักใหญ่ยังคงใช้วิธีเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายที่ใช้บังคับในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เป็นกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่รวบรวมใหม่เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ซึ่งต่อมาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติใหม่เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัยการบังคับใช้กฎหมายและระบบพิจารณาคดีแบบกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกไม่มีปัญหา แต่นานเข้ากรุงรัตนโกสินทร์มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปทำให้ระบบศาลในการพิจารณาคดีกับกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับมาแต่โบราณไม่เหมาะสม เนื่องจากการพิจารณาไต่สวนคดีล้าสมัย เช่น การทรมานให้รับสารภาพ และการลงโทษที่รุนแรงและทารุณต่าง ๆ ปัญหานี้เริ่มชัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อชาวต่างประเทศขอทำสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตไม่ยอมขึ้นศาลไทย เริ่มจากประเทศอังกฤษขอตั้งศาลกงสุลประเทศแรก เพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับของอังกฤษตกเป็นจำเลย ต่อมาชาติอื่น ๆ ก็ขอตั้งศาลกงสุลของตนบ้าง เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ทำให้คนไทยต้องเสียเอกราชทางศาลบางส่วนไปเมื่อมีกรณีพิพาทกับชาวต่างประเทศ มีผู้พิพากษาเป็นชาวต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำต้องปรับปรุงการศาลให้ทันสมัย โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายมารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน จัดตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2425 (ร.ศ. 101) โปรดเกล้าให้จารึกเรื่องที่ทรงพระราชดำริให้สร้างศาลหลวงนี้ไว้ในหิรัญบัตรบรรจุหีบไว้ในแท่งศิลาใหญ่ ซึ่งเป็นศิลาปฐมฤกษ์ เพื่อให้เป็นสิ่งสำคัญประจำศาลสืบไปภายหน้า ขอให้ธรรมเนียมยุติธรรมนี้จงเจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาลสมดังพระบรมราชประสงค์โดยสุจริตศาลสถิตย์ยุติธรรมนี้เป็นที่ประชุมของลูกขุนตระลาการ ขุนศาลทุกกระทรวง และกำหนดให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่พิจารณาคดี ีและศาลยุติธรรมอยู่ฝ่ายเดียวมิให้เกี่ยวกับราชการอื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นที่เก็บรักษากฎหมายต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ทุกประเภทให้อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อจะให้สอบสวนง่ายทำให้คดีเสร็จเร็วขึ้น

ต่อมา 1 ปีประเทศอังกฤษยอมผ่อนปรนเอกราชทางการศาลกับไทย โดยยอมให้ตั้งศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรก ศาลนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาไทย และกงสุลอังกฤษนั่งร่วมกันพิจารณาคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความกันเอง หรือคนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แต่อังกฤษก็ยังสงวนสิทธิที่จะถอนคดีไปให้ศาลกงสุลอังกฤษพิจารณาคดีเอง

ต่อมาปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกันคือกระทรวงยุติธรรม โดยใช้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นที่ทำการ โดยเริ่มจากการรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ก่อนทำให้ศาลในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีถึง 16 ศาลเหลือเพียง 7 ศาล ครั้นรวบรวมศาลในกรุงเทพฯ ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 ได้รวบรวมศาลหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นศาลมณฑลสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยเริ่มจากตั้งศาลมณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัถยาในพระราชวังจันทร์เกษมเป็นที่ทำการ หลังจากนั้นได้ตั้งศาลมณฑลอื่น ๆ ตลอดราชอาณาจักร ศาลหัวเมืองในขณะนั้นมี 3 ประเภท คือ ศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง เมื่อสถาปนากระทรวงยุติธรรมและจัดระเบียบการตั้งศาลหัวเมืองแล้ว ได้มีการปฏิรูปศาลให้ทันสมัยมากมาย เช่น ดำเนินการแยกอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการออกจากกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก ส่วนหน้าที่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดี การสืบพยานให้รวดเร็วและทันสมัย เปลี่ยนโทษเฆี่ยนตีมาเป็นโทษจำขังแทน เลิกวิธีพิจารณาคดีโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. 115 โดยยกเลิกวิธีทรมานต่าง ๆ ให้รับสารภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกฎหมายและระบบศาลต่าง ๆ อีกหลายประการ นับว่าการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมก่อให้เกิดการพัฒนาทางศาลอย่างมากมาย ภายหลังจากการตั้งกระทรวงยุติธรรม 1 ปีก็ยกเลิกศาลกรมกองตระเวน ตั้งใหม่เป็นศาลโปริสภา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดศาลแขวงต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ สำหรับพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อยสำหรับประชาชน 4 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ คือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กฎหมายอิสลามบังคับในคดีครอบครับและมรดก สำหรับอิสลามศาสนิกที่มีภูมิลำเนาใน 4 จังหวัดดังกล่าว มีดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาร่วมด้วยซึ่งเป็นการขยายความยุติธรรมให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นและยังถือเปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอิตาลี ยินยอมให้คนในบังคับของตนที่อยู่ในภาคเหนือขึ้นศาลต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่ทำนองเดียวกับ ประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญายินยอมให้คนในบังคับของฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชียขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เมื่อประเทศไทยใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เมื่อ พ.ศ. 2451 อันเป็นประมวลกฎหมายระบบสากลฉบับแรกของไทย หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยทำสนธิสัญญาคืนอำนาจศาลให้ไทยโดยให้คนในบังคับของตนขึ้นศาลไทย

ต่อมาปี พ.ศ. 2455 จึงมีการแยกอำนาจตุลาการออกจากกระทรวงยุติธรรมตามระเบียบจัดราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 ซึ่งกำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจบังคับบัญชาฝ่ายธุรการของกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียว ส่วนอธิบดีศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ การโยกย้าย และเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา และวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเป็นหลักที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2459 มีการเปลี่ยนศาลเมืองเป็นศาลจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองกระทรวงมหาดไทยที่เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประเทศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี

ในปี พ.ศ. 2457 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนจากเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในปี พ.ศ. 2462 ส่วนประเทศพันธมิตรที่ร่วมชนะสงคราม ก็ได้รับรองเอกราชทางการศาลไทยด้วย ในช่วงนี้นับว่าไทยได้รับเอกราชทางการศาลเกือบสมบูรณ์ นอกจากนั้นประเทศสัมพันธมิตรก็ยังให้สนธิสัญญาว่า หากประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมครบถ้วนแล้วจะให้เอกราชทางการศาลไทยโดยสมบูรณ์ภายใน 5 ปี ในขณะนั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อยู่หนึ่งฉบับ และได้รีบเร่งร่างกฎหมายที่เหลืออีก 3 ฉบับ

พ.ศ. 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ปวงชนชาวไทย การดำเนินการในเรื่องเอกราชทางการศาลได้กระทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงได้ประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ครบถ้วนเป็นฉบับสุดท้าย

พ.ศ. 2481 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประเทศต่าง ๆ จึงได้ยกเลิกสนธิสัญญาโดยให้เอกราชทางการศาลไทยจนหมดสิ้นซึ่งเร็วกว่ากำหนด 2 ปี พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนศาลมณฑลเป็นศาลจังหวัด และเรียกศาลในสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรม แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น

ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลขึ้นอีกหลายศาล กล่าวคือ พ.ศ. 2495 จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก และต่อมาได้ขยายไปต่างจังหวัดด้วย

พ.ศ. 2523 จัดตั้งศาลแรงงานในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2525 จัดตั้งศาลแพ่งธนบุรีและศาลอาญาธนบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนย่านฝั่งธนบุรี

พ.ศ. 2529 จัดตั้งศาลภาษีอากรกลางในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2535 เปลี่ยนแปลงศาลคดีเด็กและเยาวชนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อขยายการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2535 เป็นวาระครบ 100 ปี กระทรวงยุติธรรม มีศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดังนี้

ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของประเทศมีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา

ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลสูงชั้นกลางมี 4 ศาล ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีเขตอำนาจในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีเขตอำนาจในเขตพื้นที่ภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคเหนือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีเขตอำนาจในเขตจังหวัดภาคใต้

ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องในเรื่องชั้นคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ประกอบด้วย ศาลชั้นต้นในกรุงเทพมหานคร เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลแขวงต่าง ๆ กับศาลชั้นต้นในจังหวัดอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดทางด้านการยุติธรรมนับตั้งแต่จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก็ได้สร้างความเจริญให้แก่ศาลและวงการตุลาการของไทยในการพัฒนาก้าวหน้าควบคู่กันมาโดยตลอดจนกระทั่งเป็นศาลที่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรม ก็มีบทบาทในการสนับสนุนงานยุติธรรมของศาลด้านงบประมาณ งานด้านอาคารสถานที่ และงานธุรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เช่น จัดตั้งสำนักงานคุมประพฤติกลางและสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลต่าง ๆ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ทำให้ลดจำนวนคดีลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่งจึงขยายงานคุมประพฤติ ตั้งเป็นกรมคุมประพฤติ ใน พ.ศ. 2535 จัดตั้งสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เพื่อเผยแพร่การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องขึ้นศาลในด้านการพัฒนาที่ทำการของศาลนั้น กระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการจัดตั้งที่ทำการศาลเพิ่มเติมตลอดมา เพื่อให้เพียงพอต่อการพิจารณาคดีและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในโอกาสครบ 100 ปีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2535 กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการเปิดอาคารที่ทำการใหม่ สำหรับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลภาษีอากรกลาง จะเห็นได้ว่ากระทรวงยุติธรรมนั้นได้ปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรองรับงานยุติธรรมของศาลได้ ใน พ.ศ. 2534 แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน การบริหารงานราชการของกระทรวงยุติธรรมมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วและเป็นธรรม อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันกับศาลยุติธรรม ดังนั้นศาลและกระทรวงยุติธรรม จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลา 100 ปี

สถาบันหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่องานศาลและกระทรวงยุติธรรม คือ องค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นต้นกำเนิดของศาลยุติธรรมและมีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบศาลและงานยุติธรรม ดังที่ทราบกันมาแล้วแม้ในระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงให้ความสำคัญต่องานยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่าบูรพกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แม้จะมีพระชนม์น้อยแต่ทรงสนพระทัยในกิจการศาลเป็นอันมาก ทรงเสด็จเหยียบศาลหัวเมือง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดนครปฐม และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ณ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา การเสด็จเหยียบศาลถึง 2 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จประทับบัลลังก์ร่วมกับพระอนุชา ในการพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้พิพากษา คดีที่ทรงเป็นประธานในการพิจารณาพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง เป็นคดีลักทรัพย์ซึ่งจำเลยไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษตามพระบรมราชวินิจฉัย เป็นผลให้จำเลยทั้ง 2 คดีมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เป็นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศาลยุติธรรมมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ดังกระแสพระราชดำรัสในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเหยียบกระทรวงยุติธรรม และศาลยุติธรรม นับตั้งแต่เสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2495 “ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้มีไมตรีจิตมาร่วมชุมนุมต้อนรับข้าพเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน การศาลยุติธรรมมีความสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เพราะเป็นหลักประกันความปลอดภัยและความเที่ยงธรรมของคนทั้งประเทศ และเป็นอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมสม่ำเสมอเป็นหลักอันคนทั้งปวงพึงยึดถือเป็นที่พึ่งได้เนืองนิจ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะได้ช่วยเหลือส่งเสริมให้การประสาทความยุติธรรมเจริญรุ่งเรืองสมควรแก่กาลสมัย ข้าพเจ้ามีความพอใจในประวัติของกระทรวงยุติธรรมและชื่อเสียงของศาลยุติธรรมที่ได้เป็นมา และความสามัคคีกลมเกลียวเป็นสมานฉันท์ของบรรดาข้าราชการกระทรวงยุติธรรม” ศาลยุติธรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศและด้วยพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ ทำให้ศาลในพระปรมาภิไธยมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้สามารถประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่านั้นในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วผู้ต้องคำพิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสสุดท้ายที่จะยื่นเรื่องราวต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษได้อีก องค์พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม และเป็นที่พึงสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริงสืบมาแต่โบราณกาล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

รัฐสภาไทย



รัฐสภาไทย
รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกัน หรือแยกกัน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง
ประวัติรัฐสภาไทย
รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา

ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน

ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

[แก้] ประธานรัฐสภาไทย
ดูบทความหลักที่ รายนามประธานรัฐสภาไทย
จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย มีผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา รวม 28 คน ดังนี้

1. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
28 มิถุนายน - 1 กันยายน 2475
15 ธันวาคม 2475 - 26 กุมภาพันธ์ 2476
2. เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
2 กันยายน 2475 - 10 ธันวาคม 2476
3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
26 กุมภาพันธ์ 2476 - 22 กันยายน 2477
6 กรกฎาคม 2486 -24 มิถุนายน 2487
ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
31 สิงหาคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2490
15 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490
4. เจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
22 กันยายน 2477 - 15 ธันวาคม 2477
17 ธันวาคม 2477 - 31 กรกฎาคม 2478
7 สิงหาคม 2478 - 31 กรกฎาคม 2479
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
26 พฤศจิกายน 2490 - 18 กุมภาพันธ์ 2491
20 กุมภาพันธ์ 2491 - 14 มิถุนายน 2492
15 มิถุยายน 2492 - 20 พศจิกายน 2493
22 พฤศจิกายน 2493 - 29 พฤศจิกายน 2494
5. พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
3 สิงหาคม 2479 - 10 ธันวาคม 2480
10 ธันวาคม 2480 -24 มิถุนายน 2481
28 มิถุยายน 2481 - 10 ธันวามคม 2481
12 ธันวาคม 2481 - 24 มิถุนายน 2482
28 มิถุนายน 2482 - 24 มิถุนายน 2483
1 กรกฎาคม 2483 - 24 มิถุนายน 2484
1 กรกฎาคม 2484 - 24 มิถุนายน 2485
30 มิถุนายน 2485 - 24 มิถุนายน 2586
2 กรกฎาคม 2487 - 24 มิถุนายน 2488
29 มิถุนายน 2488 - 15 ตุลาคม 2488
26 มกราคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2489
6. พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489
7. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
1 ธันวาคม 2494 - 17 มีนาคม 2495
22 มีนาคม 2495 - 23 มิถุนายน 2495
28 มิถุนายน 2495 -23 มิถุนายน 2496
2 กรกฎาคม 2496 - 23 มิถุนายน 2497
29 มิถุนายน 2497 - 23 มิถุนายน 2498
2 กรกกาคม 2498 - 23 มิถุนายน 2499
30 มิถุนายน 2499 - 25 กุมภาพันธ์ 2500
16 มีนาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2500
28 มิถุนายน 2500 - 16 กันยายน 2500
27 ธันวาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2501
25 มิถุนายน 2501 - 20 ตุลาคม 2501
8. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500
ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511
9. นายทวี บุณยเกตุ ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
8 พฤษภาคม2511 -20 มิถุนายน 2511
10. พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
22 กรกฎาคม 2511 - 6 กรกฎาคม 2514
7 กรกฎาคม 2514 - 17 พฤศจิกายน 2514
11. พลตรีศิริ สิริโยธิน ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
18 ธันวามคม 2515 - 11 ธันวาคม 2516
12. พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
29 ธันวาคม 2516 -7 ตุลาคม 2517
13. นายประภาศน์ อวยชัย ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
17 ตุลาคม 2517 - 25 มกราคม 2518
14. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
7 กุมภาพันธ์ 2518 -12 มกราคม 2519
15. นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
19 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519
6 กุมภาพันธ์ 2544 - 5 มกราคม 2548
16. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา
22 ตุลาคม 2519 - 20 พฤศจิกายน 2519
17. พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล
ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
28 พฤศจิกายน 2519 - 20 ตุลาคม 2520
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
25 พฤศจิกายน 2520 - 22 เมษายน 2522
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
9 พฤษภาคม 2522 - 19 มีนาคม 2526
18. นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
26 เมษายน 2526 - 19 มีนาคม 2527
19. ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
30 เมษายน 2527 - 30 เมษายน 2528
1 พฤษภาคม 2528 - 23 เมษายน 2530
24 เมษายน 2530 - 22 เมษายน 2532
3 เมษายน 2335 - 26 พฤษภาคม 2535
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2 เมษายน 2534 - 21 มีนาคม 2535
20. ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
4 พฤษภาคม 2532 - 23 กุมภาพันธ์ 2534
21. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
28 มิถุนายน 2535 - 29 มิถุนายน 2535
22. ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
22 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538
23. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
11 กรกฎาคม 2538 27 กันยายน 2538
24. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543
25. นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
30 มิถุนายน 2543 - 9 พฤศจิกายน 2543
26. นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
8 มีนาคม 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549
27. นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
23 มกราคม 2551 - เมษายน 2551
28. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
15 พฤษภาคม 2551 - (ปัจจุบัน